สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์

0-7547-6208

03-praduu-abbreviation-01-01-01
ม.วลัยลักษณ์จับมือโรงเรียนในกรุงชิงประกวดการกล่าวสุนทรพจน์ “กรุงชิงที่ฉันภูมิใจ”

ม.วลัยลักษณ์จับมือโรงเรียนในกรุงชิงประกวดการกล่าวสุนทรพจน์ “กรุงชิงที่ฉันภูมิใจ”

ม.วลัยลักษณ์จับมือโรงเรียนในกรุงชิง
ประกวดการกล่าวสุนทรพจน์ “กรุงชิงที่ฉันภูมิใจ”

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์หนุน 4 โรงเรียนในตำบลกรุงชิงจัดประกวดสุนทรพจน์ระดับนักเรียน  ได้จัดกิจกรรมเตรียมตัวให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเนื้อหาและวิธีการกล่าวสุนทรพจน์ก่อนที่นักเรียนจะไปจัดทำคลิปส่งประกวด  และมอบรางวัลโดยนายก อบต.กรุงชิง  พร้อมทั้งเตรียมขยายผล

ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567 คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ประกอบด้วย ผศ.ดร.วิทยา อาภรณ์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ดร.สัจจารีย์ ศิริชัย สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ รศ.ดร.อรอนงค์ เฉียบแหลม สำนักวิชาการจัดการ และ ดร.ชนกมลย์ คงยก สำนักวิชาครุศาสตร์และศิลปศาสตร์ ได้ประสานกับโรงเรียนในตำบลกรุงชิงจัดประกวดสุนทรพจน์ระดับนักเรียนเรื่อง “กรุงชิงที่ฉันภูมิใจ”ขึ้น  โดยแบ่งการดำเนินกิจกรรมเป็น 5 ขั้นตอนคือ

ขั้นตอนที่ 1 การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “จากของดีกรุงชิง สู่ผลิตภัณฑ์อันน่าภูมิใจของชุมชน” วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2567 ที่ห้องประชุม SPARK อาคารวิชาการ 1 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา ซึ่งได้มีการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของมหาวิทยาลัยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีนักเรียนจาก 4 โรงเรียนพร้อมคุณครูผู้ดูแลเข้าร่วมคือโรงเรียนบ้านนบ, โรงเรียนบ้านพิตำ, โรงเรียนวัดเปียน และโรงเรียนบ้านปากลงรวมทั้งสิ้น 45 คน  เนื้อหาการอบรมประกอบด้วยประวัติของชุมชนท้องถิ่นกรุงชิงในยุคดั้งเดิม ยุคสู้รบ  และยุคปัจจุบัน  การบรรยายเรื่อง การศึกษาและทรัพยากรรวมถึงการหาแนวทางพัฒนาของดีชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์อันน่าภูมิใจ การพัฒนาทางสังคมและทางการเงิน รวมถึงธุรกิจที่ยั่งยืน โดย วิทยากร จากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ แนวคิดและวิธีการกล่าวสุนทรพจน์ โดย อาจารย์ธีรวัฒน์ กล่าวเกลี้ยง สำนักวิชาครุศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  และมีการให้คำปรึกษาและฝึกการกล่าวสุนทรพจน์และฝึกการจัดทำคลิปวิดีโอในหัวข้อ “กรุงชิงที่ฉันภูมิใจ” 

ขั้นตอนที่ 2 การจัดทำคลิปส่งประกวด หลังจากเวทีนี้แล้วจะเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่ละโรงเรียนจัดทำคลิปและส่งคลิปเข้าประกวดโรงเรียนละ 1 คลิป ความยาว 3 นาที  ส่งเป็นไฟล์ไปยังคณะกรรมการผ่านช่องทางออนไลน์ ภายในวันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567

ขั้นตอนที่ 3 การตัดสินการประกวด โดยมีกรรมการตัดสิน 10 คน ประกอบด้วยตัวแทน 3 ส่วน คือจาก ครูจากแต่ละโรงเรียน 4 คน ทีมวิจัยชุมชน 3 คน  และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 2 คน เกณฑ์ในการตัดสิน คือ คะแนนเต็ม 20 คะแนน แบ่งเป็น รูปแบบ/เทคนิค  10 คะแนน  เนื้อหา 10 คะแนน ต่อมาวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2567 ได้ประกาศผลการตัดสินโดยการแจ้งไปยังโรงเรียนต่างๆ  รางวัลที่ได้มี 4 รางวัล คือ

          รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล รางวัลละ 4,000 บาท ได้แก่โรงเรียนวัดเปียน

          รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล รางวัลละ 2,500 บาท ได้แก่โรงเรียนบ้านนบ, โรงเรียนบ้านพิตำ

          รางวัลชมเชย 1 รางวัล รางวัลละ 1,000 บาท ได้แก่ โรงเรียนบ้านปากลง

ขั้นตอนที่ 4 การรับรางวัลและการเผยแพร่คลิป มอบรางวัลที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ อบต.กรุงชิง ในวันอังคารที่ 3 กันยายน 2567  โดยมีการชี้แจงความเป็นมาของโครงการวิจัยและกิจกรรมการประกวดคลิปการกล่าวสุนทรพจน์ จากนั้นนายจรินทร์ จันชุมนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกรุงชิงได้เป็นผู้มอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดคลิปการกล่าวสุนทรพจน์ รับชมคลิปการกล่าวสุนทรพจน์

ขั้นตอนที่ 5 การเผยแพร่และขยายผล โดยวันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2567 จะนำคลิปที่ได้รับรางวัลไปเผยแพร่ในงาน “เทศกาลการเรียนรู้นครศรีธรรมราช 2567 LEARNING FEST 2024 NAKHON คอนNEXT รากนครเชื่อมต่ออนาคต” ที่อุทยานการเรียนรู้ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ผู้ส่งคลิปเข้าประกวดได้อนุญาตให้โครงการวิจัยสามารถคลิปนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะตามช่องทางที่เหมาะสมต่อไป

อนึ่ง การจัดกิจกรรมนี้ดำเนินการภายใต้โครงการการยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นในตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างยั่งยืน ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567-พฤษภาคม 2568 มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการรวมตัวของคนในชุมชน การพัฒนาจัดการความรู้ของชุมชนผ่านการทำหลักสูตรท้องถิ่น การนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดรายได้โดยการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน  และการคิดค้นกิจกรรมอื่นโดยการสำรวจทรัพยากรอื่นๆและนำมาจัดการเพื่อก่อให้เกิดรายได้

Scroll to Top